รัฐฯ ซื้อหนี้ประชาชน จุดเปลี่ยนอสังหาฯ? ดีกว่าเดิม หรือพังกว่าเก่า​

obl news

ผลกระทบของนโยบายซื้อหนี้ประชาชนต่อเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 16.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของ GDP ซึ่งเป็นหนึ่งในระดับที่สูงที่สุดในเอเชีย นโยบายการซื้อหนี้ประชาชนจากธนาคาร โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จึงถูกเสนอขึ้นมาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหานี้ รัฐบาลได้เปิดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ให้ประชาชนที่ติดเครดิตบูโรลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ แต่จากจำนวนผู้ลงทะเบียน 2 ล้านคน มีเพียง 200,000 คนที่ผ่านเกณฑ์ หรือคิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น นี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องขยายระยะเวลาการลงทะเบียนจากกุมภาพันธ์ไปถึงเมษายน

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ
นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างไร?

ผลกระทบเชิงบวกต่ออสังหาริมทรัพย์

  1. ลดจำนวนหนี้เสียในระบบ – ธนาคารพาณิชย์สามารถขายหนี้เสียออกไป ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย
  2. เพิ่มโอกาสเป็นเจ้าของบ้าน – ประชาชนที่ปลดล็อกเครดิตจากหนี้เสียเดิมสามารถกลับมาขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้
  3. กระตุ้นตลาดอสังหาฯ – คาดการณ์ว่าหากเกิด Virtual Bank หรือหน่วยงานรัฐที่ซื้อหนี้เสนอสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำจริง จะช่วยให้เกิดดีมานด์ซื้อบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคัก
  4. ลดแรงกดดันจากการยึดทรัพย์ – เจ้าของบ้านที่มีภาระหนี้และเสี่ยงถูกยึดบ้านสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ลดปริมาณทรัพย์สินที่ถูกบังคับขาย ซึ่งช่วยให้ราคาตลาดอสังหาฯ ไม่ดิ่งลง

ผลกระทบด้านลบที่ต้องพิจารณา

  1. พฤติกรรมเสี่ยงทางการเงิน (Moral Hazard) – การช่วยปลดหนี้อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบทางการเงินในอนาคตของลูกหนี้ ประชาชนอาจก่อหนี้โดยหวังให้รัฐช่วยเหลืออีก
  2. กระทบราคาที่อยู่อาศัย – ลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก และกลับเข้าสู่ตลาดซื้อบ้าน อาจทำให้ราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้คนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือต้องเผชิญกับราคาบ้านที่แพงขึ้น
  3. ธนาคารพาณิชย์สูญเสียฐานลูกค้า – ลูกหนี้จำนวนมากจะย้ายไปรีไฟแนนซ์กับหน่วยงานรัฐธนาคารพาณิชย์อาจสูญเสียฐานลูกค้า ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่
  4. ภาระของรัฐในการบริหารจัดการหนี้ – หากหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาบริหารหนี้เสียจำนวนมาก อาจเกิดปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ รวมถึงความเสี่ยงที่รัฐจะต้องแบกรับภาระขาดทุนหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระคืนตามเงื่อนไขที่กำหนด

แนวโน้มของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศลด LTV (Loan to Value) ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – มิถุนายน 2025 เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ เป็นการส่งสัญญาณว่า นี่อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากดอกเบี้ยสินเชื่อถูกลง และข้อกำหนดในการขอสินเชื่อถูกผ่อนปรน

มุมมองการจาก โอเบลิสก์

ในมุมมองของโอเบลิสก์ จากบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง แสดงให้เห็นว่าการซื้อหนี้เป็นแนวทางที่เคยถูกนำมาใช้แล้ว และไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ในครั้งนี้รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยเน้นไปที่การช่วยเหลือกลุ่มที่ยังไม่เป็น NPL แต่กำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต มากกว่าการช่วยเหลือผู้ที่เป็น NPL ไปแล้วเพียงอย่างเดียว เพราะกลุ่มนี้ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ และจะช่วยให้การแก้ปัญหาหนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปรียบเสมือน “การฉีดวัคซีนให้กับคนป่วย แทนที่จะฉีดให้กับศพที่ฟื้นไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม นโยบายซื้อหนี้ประชาชนส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยในระยะสั้น อาจช่วยกระตุ้นตลาดและลดภาระหนี้ของประชาชนบางส่วน แต่ในระยะยาว จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพื่อป้องกันปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน และการบริหารหนี้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถรับชมได้ในวิดีโอต่อไปนี้

ผุดแนวคิดซื้อหนี้ประชาชน นายแบงก์ เตือนแก้หนี้ต้องยั่งยืน I TNN รู้ทันลงทุน I 18-03-68